top of page

การเข้ามาครั้งแรกของกล้องถ่ายรูปในประเทศไทย

         พุทธศักราช ๒๓๘๒ หลุยส์ ดาแกร์ (Louis Daguerre) ชาวฝรั่งเศส ประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพออกจำหน่ายได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยกล้องที่เรียกต่อมาว่า ดาแกโรไทป์ (Daguerreotype) ซึ่งอาศัยแสงทำปฏิกิริยากับสารเคมีที่เคลือบอยู่บนแผ่นเงิน
         ๖ ปีต่อมา สังฆราชปาเลอกัว ชาวฝรั่งเศส ที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ฝากให้บาทหลวงลาร์นอดี ซื้อกล้องถ่ายภาพจากปารีส และนำเข้ามายังกรุงเทพฯ แต่ความพยายามในการถ่ายภาพบุคคลสำคัญในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ นั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางส่วนใหญ่ ยังคงกลัวว่าการถ่ายภาพจะทำให้อายุสั้นลง รวมทั้งระแวงว่าอาจถูกนำภาพถ่ายไปทำคุณไสย์

         มีหลักฐานเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า สยามประเภท ฉบับลงวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ กล่าวว่า เรามีช่างถ่ายรูปครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๓ (ร.๓ ขึ้นครองราชย์ ๒๗ ปี ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔) ก.ศ.ร. กุหลาบ เจ้าของหนังสือสยามประเภท ได้เขียนเล่าในหนังสือฉบับเดียวกันว่า ในครั้งนั้นพระยาไทรบุรี ได้ส่งพระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย แห่ง กรุงอังกฤษ (สมัยนั้นเรียกว่า“รูปเจ้าวิลาต”) ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย แต่รัชกาลที่ ๓ ไม่ทรงเชื่อว่าเป็นรูปถ่าย ทรงเห็นว่าเป็นเพียงรูปเขียนเท่านั้น สมัยนั้น “รูปเจ้าวิลาต” เคยแขวนไว้ที่ห้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านทิศตะวันตก ซึ่งนับเป็นรูปถ่ายรูปแรกในเมืองไทย ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าได้พบรูปดังกล่าว

          ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เขียนเล่าต่อว่า “...เพิ่งมามีช่างภาพรูปครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นคือ ท่านสังฆราชฝรั่งเศสชื่อ ปาเลอกัว เป็นผู้ถ่ายรูปแผ่นเงินในกรุงสยามก่อนมนุษย์ที่ ๑ ภายหลังพระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) แต่ยังเป็นมหาดเล็กอยู่นั้น ได้ถ่ายรูปเป็นครั้งที่ ๒ เป็นเศษสังฆราชด้วย พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) ผู้นี้เป็นช่างชุบเงินทองก่อนมนุษย์ทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม เป็นผู้รู้วิชากะไหล่แช่ชุบเงินทองก่อนชาวสยามทั้งสิ้น ภายหลังพระปรีชากลการ (สำอาง) เป็นช่างภาพรูปครั้งที่ ๓ ภายหลังหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) เป็นช่างถ่ายรูปครั้งที่ ๔”

อีกทั้งสังฆราชปาเลอกัว ชาวฝรั่งเศส ได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องเมืองสยาม พิมพ์ที่ปารีส พ.ศ. ๒๓๙๗ มีรูปวาดลายเส้นประกอบเกือบ ๒๐ รูป แต่ละรูปวาดได้เหมือนจริงไม่ผิดเพี้ยน เช่น รูปผู้หญิงไทยไว้ผมจุกปักปิ่น รูปชายไทยไว้ผมมหาดไทย รูปวัดเทพธิดาราม รูป พระปรางค์วัดอรุณ รูปเด็กชายชม และแก้วที่ท่านสังฆราชพาไปเรียนที่ฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งน่าจะวาดจากต้นฉบับที่เป็นรูปถ่ายรวมทั้งมีเรื่อง “ถ้ำมอง”(Optique)
            ประดิษฐกรรมตระกูลเดียวกับกล้องถ่ายรูป ซึ่งใช้เป็นกลยุทธในการเผยแพร่ศาสนา เพราะไปที่ใดก็จะชักชวนผู้คนให้มาเข้าวัด โดยการเอา " ถ้ำมอง " นี้ ไปล่อให้คนมามุงดูรูปใน " ถ้ำมอง

เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพในสมัยรัตนโกสินทร์

          ในปีพ.ศ. ๒๔๐๘ นายจอห์น ทอมสัน ขณะนั้นอายุได้ ๒๘ ปี เขาได้ขายกิจการร้านถ่ายรูปที่สิงคโปร์  เดินทางมาสยาม นายทอมสันเดินทางมาโดยสารเรือกลไฟชื่อ "เจ้าพระยา" (เรือลำนี้มี พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ หรือเจ้าสัวยิ้ม เป็นเจ้าของ เดินเป็นประจำระหว่าง กรุงเทพฯ กับสิงคโปร์) มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๘  กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๘ ระหว่างที่อยู่ในกรุงเทพฯ ๓ เดือน เขาได้เข้าเฝ้าและถ่ายพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายรูปพระราชพิธีโสกันต์ของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และเดินทางโดยเรือไปเมืองเพชรบุรี และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย นายทอมสัน อัดรูปภาพที่ถ่ายในกรุงเทพฯ ออกจำหน่าย มีลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ของหมอปรัดเลอยู่หลายครั้ง โดยซื้อได้ที่บ้านกัปตันเอมส์ (Captain Samual Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษ ที่เขาพักอยู่

          นายทอมสัน ได้ทำหนังสือเสนอสำนักพระราชวัง โดยผ่านสถานกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ขอเข้าไปถ่ายภาพในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบรับนายทอมสันเป็นภาษาอังกฤษ ทรงมีพระบรมราชานุญาต และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ฉายพระรูปส่วนพระองค์เองอีกด้วย พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่สนพระทัยการถ่ายภาพและเก็บพระฉายาลักษณ์ของพระองค์เอง ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเกรงกลัวการถ่ายรูป เชื่อว่าทำให้อายุสั้น
          จากบันทึกของนายทอมสันเมื่อเข้าเฝ้า เล่าว่า “…พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา
เป็นผู้พาเข้าเฝ้าทรงมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าโหรหลวง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนไว้ใน
พระราชหัตถเลขาว่า พระอนุชาพระองค์นี้ ทรงรู้เรื่องการถ่ายรูปดีจะได้พาไปถ่ายรูปบุคคลและสถานที่ได้ถูกต้อง ทั้งสองเข้าสู่ประตูพระบรมมหาราชวัง มีทหารยามทำวันทยาวุธ เมื่อเข้าถึงวังหลวงฝ่ายใน มีผู้คนหมอบเฝ้าจำนวนมากตามรายทางที่เดินผ่าน พนักงานจัดเลี้ยงต้อนรับ มีผลไม้ ขนมเค้ก และเหล้าไวน์ เขารับแจ้งว่า  ให้รอไปก่อน พระเจ้าอยู่หัวทรงทำวัตรเช้า นายทอมสันเลยถือโอกาสเดินดูสิ่งก่อสร้างและเครื่องตกแต่งภายในท้องพระโรง ผนังด้านหนึ่งของท้องพระโรงแขวนพระรูปของ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และพระราชินีแห่งประเทศฝรั่งเศส ขนาดเท่าพระองค์จริง อีกฟากหนึ่งติดพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ เมื่อเสียงแตรดังขึ้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกทางพระทวารขนาดใหญ่ นายทอมสันตื่นเต้นดีใจที่เกิดมาชาตินี้เพิ่งมีโอกาสเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก…”

         เขาเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสูงประมาณ ๕ ฟุต ๘ นิ้ว (๑๗๐ ซ.ม.) ทรงประทับยืนพระองค์ตรงและโดดเด่น พระพักตร์ค่อนข้างซูบฉลองพระองค์เสื้อคลุมสีขาวมีความยาวถึงพระบาท (เข้าใจว่า ทรงฉลองพระองค์ชุดทรงศีล) เป็นพระภูษาที่เรียบง่ายและบริสุทธิ์ พระองค์ทรงทักทายนายทอมสัน
นายทอมสันเสนอให้ฉายพระรูปขณะทรงคุกเข่าสวดมนต์ แต่ขณะที่นายทอมสันกำลังจัดแจงกล้องถ่ายรูปและจัดฉากอยู่ พระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัย ทรงหายไปข้างในระยะเวลาหนึ่งกรมหมื่นอลงกฎฯ ตรัสกับนายทอมสันว่า ตนไม่อยู่ในฐานะที่ทูลถามพระเจ้าอยู่หัวได้
          ขณะที่คนทั้งสองคอยด้วยความฉงน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมาชุดฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมพลแห่งกองทัพฝรั่งเศส ฉลองพระองค์ทั้งชุดไม่มีส่วนที่เป็นผ้าฝ้ายอยู่เลยแม้แต่ถุงเท้า (คงเป็นผ้าขนสัตว์และผ้าไหมที่มีค่าทั้งหมด) นายทอมสันปฏิบัติหน้าที่ช่างฉายพระรูปได้อย่างดีและเรียบร้อยต่อมาพระองค์ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นชุดบรมขัตติยราชภูษาภรณ์  ทรงให้นายทอมสันถ่ายภาพเพิ่มเติมอีก นายทอมสันกราบทูลด้วยภาษาอังกฤษง่ายๆ ระหว่างกราบทูลพระองค์ทรงโพสต์ท่าถ่ายภาพ พระองค์ตรัสกับนายทอมสันว่า "เธอทำทุกอย่างที่ต้องการเพื่อให้รูปออกมาดีเลิศก็แล้วกัน" นายทอมสันเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามตนว่า มีสัญชาติใดเมื่อกราบทูลว่าเกิดที่กรุงเอดินเบอเรอ พระองค์ตรัสว่า "อา เธอเป็นคนสก๊อตและพูดภาษาอังกฤษที่ฉันเข้าใจ  มีคนอังกฤษที่นี่ ที่ไม่เข้าใจภาษาของตนเอง เมื่อฉันพูดกับเขา"
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการถ่ายภาพในหมู่ชนชั้นนำสยามไปโดยสิ้นเชิง ท่านได้ส่งรูปพระองค์และพระมเหสี ที่ส่งไปพระราชทานแก่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ พระราชนิยมเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ทำให้ชนชั้นนำในขณะนั้นเริ่มรู้สึกว่า การถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องอันตราย และความนิยมถ่ายภาพบุคคลและภาพครอบครัวค่อยๆแผ่ขยายจากราชสำนักออกไปยังประชาชนทั่วไปทีละน้อย

ชาวไทยที่ถ่ายรูปในเมืองไทยเป็นคนแรก

          พระยากระสาปน์ กิจโกศล หรือนายโหมด ต้นตระกูล “อมาตยกุล” บรรดาศักดิ์ก่อนหน้าคือ พระวิสูตรโยธามาตย์ เป็นขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ที่มีความรู้ในเชิงช่างสามารถซ่อมเครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า มีความสามารถในวิชาช่างชุบโลหะ สามารถประดิษฐ์สร้างเครื่องกลึง เดิมชื่อ โหมด เกิดเมื่อวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๖๒ ในปี   พ.ศ. ๒๔๐๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ วิศวกรชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรที่โรงกระสาปน์สิทธิการ เพื่อผลิตเงินเหรียญใช้แทนเงินพดด้วง ได้เสียชีวิตอย่ากะทันหัน นายโหมดสามารถติดตั้งเครื่องจักรจนใช้งานได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น พระวิสูตรโยธามาตย์

ทำหน้าที่กำกับการทำเงิน

          พระยากระสาปน์ กิจโกศล มีชื่อเสียงในการถ่ายรูปเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เช่น ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “เรื่องการถ่ายรูปเมืองไทย” ของ รัชกาลที่ ๕ จากหนังสือกุมารวิทยา ได้กล่าวถึงชื่อนายโหมดว่าเป็นช่างภาพรูปยุคแรก ๆ ในประชุมพงศาวดารที่ ๒๙  อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงรงราชานุภาพ ก็ทรงกล่าวถึงนายโหมดว่า สนใจวิชาประสมธาตุศึกษา เรื่องเครื่องจักร และศึกษาเรื่องชักรูปจากฝรั่ง ในหนังสือสยามประเภท เมื่อพูดถึงสังฆราชปาเลอกัวในกรณีถ่ายรูป ก็ต้องกล่าวโยงไปถึงนายโหมดด้วยทุกครั้ง ในฐานะเป็นลูกศิษย์ ตลอดจนบทความที่ อเนก นาวิกมูล ได้รับจากสถาบันสมิธโซเนียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ชื่อ Photography in Siam พิมพ์ในหนังสือ Philadelphia Photographer พ.ศ. ๒๔๐๘ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔  กล่าวถึงขุนนางที่ชื่อพระยาวิสูตรโยธามาตย์ อันเป็นบรรดาศักดิ์ของนายโหมด ก่อนจะมาเป็นพระยากระสาปน์กิจโกศลภายหลัง กล่าวว่า เมื่อพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษ ส่งอุปกรณ์รูปถ่ายครบชุดมาถวายรัชกาลที่ ๔ พระวิสูตรโยธามาตย์ ผู้นี้ก็สามารถถ่ายรูปโดยใช้กล้องถ่ายรูปนี้ได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ไม่รู้จักภาษาอังกฤษเลย และพระวิสูตรยังได้ฝากรูปถ่ายของเมืองไทยไปกับพวกมิชชันนารี ให้หมอเฮาส์ในอเมริกา ดูบทความนี้ยังได้วิจารณ์ถึงความสามารถของคนไทยที่อยู่ในดินแดนที่ห่างไกล แต่ก็ยังถ่ายรูปได้อย่างน่าพอใจ จริงๆแล้วช่างถ่ายรูปในเมืองไทยที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่ได้มีแต่พระยากระสาปน์ กิจโกศลเท่านั้น บุคคลอื่นๆ เช่น พระปรีชากลการ หรือนายสำอาง อมาตยกุล ลูกชายของพระยากระสาปน์ กิจโกศล หลวงอัคนีนฤมิตร (นายจิตร จิตราคนี)  และกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอของรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นตระกูล “นิลรัตน์” จอห์น ทอมสัน ที่ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยได้บันทึกไว้ว่า ทรงเป็นผู้มีความใจดีในงานถ่ายรูปเป็นต้น

รูปถ่ายงานพระเมรุ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี อยู่ในหอสมุดแห่งชาติซึ่งมีป้ายเก่าเขียนว่าในหีบเป็นผลงานของนายโหมด

 

พระเมรุมาศยอดเป็นพระปรางค์  เก็บอยู่ในหีบฝีมือนายโหมด อัดจากกระจกต้นฉบับโดยตรง  ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ

        การที่ภาพถ่ายได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้มีช่างภาพเดินทางออกไปถ่ายภาพเป็นอันมาก บางส่วนก็เข้ายังประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเอกราชเพียงประเทศเดียวในเวลานั้น การที่สังคมไทยเปิดรับ ความเป็นตะวันตกอย่างระมัดวังแต่ไม่เข้มงวดจนเกินไปนัก ไม่ว่าเป็นเรื่องศาสนา, วิทยาศาสตร์ต่างๆ มีบุคคลทั้งเจ้านาย, ขุนนาง และสามัญชนเข้าไปเรียนรู้จากชาวตะวันตก ซึ่งโดยมากเป็นหมอสอนศาสนาคริสต์ การถ่ายภาพก็เช่นกัน เมื่อชาวไทยได้เรียนรู้การถ่ายภาพมากขึ้นทำให้เกิดความตื่นตัวเป็นอันมาก ประกอบกับช่างภาพชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเปิดสตูดิโอในกรุงเทพ

          ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสนพระทัยการถ่ายรูปเป็นอันมาก จากพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ที่กล่าวถึงการเสด็จเยี่ยมประชาชนในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงแวะถ่ายรูปผู้คนพลเมือง สถานที่เหตุการณ์ทุกหนทุกแห่ง ทรงกล่าวถึงการถ่ายรูปไว้ถึง ๕๐ ครั้ง ส่วนพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน กล่าวถึงการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงเอ่ยถึงคำว่าถ่ายรูปและ รูปถ่ายนับร้อยแห่ง เริ่มตั้งแต่เสด็จออกจากประเทศไทย ทรงมีกล้องถ่ายรูปคู่พระหัตถ์คือ “กล้องโกแด็กอย่างโปสการ์ด”
          การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการถ่ายรูปมากจึงทำให้
เจ้าฟ้า ขุนนาง และข้าราชบริพารพลอยสนพระทัยและสนใจเรื่องการถ่ายรูปตามไปด้วย มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การถ่ายรูปยุคแรกของไทย คือ ทรงจัดให้มีการอวดรูป และประชันรูปขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในงานไหว้พระพุทธชินราช ณ วัดเบญจมบพิตร ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ และ ปี พ.ศ. ๒๔๔๘  ตามลำดับ รูปที่รับเข้าแสดงมีทั้งรูปที่อัดลงกระดาษ และรูปกระจกที่จะต้องใส่ถ้ำมอง ที่เรียกว่า ตักสิโฟเต ( Taxiphote ) จนเมื่อเทคโนโลยีทางด้านการถ่ายรูปพัฒนามากขึ้น การถ่ายรูปในประเทศไทยก็เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นเช่นในปัจจุบันวิชาการถ่ายภาพ ได้พัฒนาก้าวหน้ามาโดยลำดับ โดยนักประดิษฐ์ชาวยุโรป และได้เผยแพร่กระจายไปเกือบทั่วโลก และร้านถ่ายรูปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีช่างถ่ายรูปและสตูดิโอถึง ๒๐ กว่าราย มีร้านถ่ายรูปอาชีพของชาวต่างชาติมากกว่า ๑๐ ร้าน เป็นการเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพโดยเฉพาะร้านถ่ายภาพของนายโรเบิร์ต เลนซ์

          กล้องถ่ายรูปค่อนข้างได้รับความนิยมสูงมากในหมู่เจ้าจอม ในหมู่พระสนม หรือพระอัครมเหสี เพราะว่า กล้องถ่ายรูปถือว่าเป็นของใหม่ บางครั้งมีงานออกร้านในช่วงฤดูหนาว ที่วัดเบญจมบพิตร ฝ่ายในก็ไปออกร้านด้วย ซึ่งเป็นร้านของสตรีชั้นสูง มีการถ่ายรูป ล้างรูป ส่งรูปภาพประกวด เจ้าจอมบางคนฝีมือดีถึงขั้นได้รางวัล ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ การออกร้านช่วงฤดูหนาวที่วัดเบญจมบพิตร มีเจ้านายฝ่ายในเป็นเจ้าหน้าที่ของร้านด้วย ได้แก่เจ้านางเอิบ เป็นเจ้าหน้าที่ถ่ายรูป สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ พระองค์เจ้าหญิงอรประพันธ์รำไพ พระองค์เจ้าหญิงอดิศัยสุริยาภา และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นเจ้าหน้าที่อัดภาพ รูปภาพ

          ภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงทำกับข้าวที่พระตำหนักเรือนต้นในพระราชวังดุสิต เป็นฝีมือการถ่ายภาพของเจ้าจอมเอิบ ( เจ้าจอมพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ) ผู้ที่สามารถทำได้ทั้งถ่ายภาพและอัดภาพ เรียกได้ว่าเป็น ช่างภาพหญิงประจำราชสำนัก ที่สามารถเข้าถึงเหตุการณ์พิเศษต่างๆ ที่ช่างภาพทั่วไปไม่อาจเข้าถึง

          อ.พิสิฐ เสนานันท์สกุล ถอดความเขียนไว้ในวารสารธุรกิจการถ่ายภาพ นำเสนอภาพถ่ายประวัติศาสตร์กู้เอกราชชาติไทย ในการเสด็จประวัติศาสตร์กู้เอกราชชาติไทย ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะในวันที่ ๕ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๖ สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย แห่งกรุงรัสเซีย โปรดเกล้าให้ช่างภาพพระบรมรูป พร้อมกันสองพระองค์ นับว่าเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซียทรงมีรับสั่งให้ส่งภาพพระบรมรูปคู่กันนี้ ลงในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ออกในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป บังเกิดผลทันทีที่ฝรั่งเศสได้สั่งถอนกำลังทหารของตนออกจากเมืองจันทบุรีและยุติการรุกรานประเทศไทยนับแต่บัดนั้น

          สมาพันธ์สมาคมการถ่ายภาพแห่งประเทศได้เสนอเรื่อง การเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว ในฐานะพระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย และวันนักถ่ายภาพไทยไปยังคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อพิจารณาในปีพ.ศ. ๒๕๔๗  คณะรัฐมนตรีลงมติเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เห็นชอบให้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะ “พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย”  เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวงการถ่ายภาพไทย และเป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจและเป็นศูนย์รวมน้ำใจของคนในวงการถ่ายภาพ และได้กำหนดให้ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวัน “วันนักถ่ายภาพไทย” 

ช่างถ่ายรูปคนแรกที่ตั้งร้านถ่ายรูป และรับถ่ายรูปเป็นอาชีพ

          หลวงอัคนีนฤมิตร หรือนายจิตร ต้นตระกูลจิตราคนี เป็นช่างภาพหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ นับเป็นช่างถ่ายรูปอาชีพคนแรก ที่ตั้งร้านถ่ายรูปในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ อยู่ที่แพวัดซางตาครูซ ตรงกันข้ามกับปากคลองตลาด รูปถ่ายที่นายจิตร หรือหลวงอัคนีนฤมิตร ถ่ายมีทั้งภาพบุคคล ตั้งแต่ชนชั้นสูงจนถึงคนสามัญ ภาพสถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ภาพถ่ายที่ถ่ายจากร้านของท่านจะมีตราร้านอยู่ด้วย
          หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) หรือ นายจิตร หรือ ฟรานซิส. จิตร (พ.ศ. ๒๓๗๓ – ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๔) เป็นช่างภาพอาชีพคนแรกชาวไทย เป็นผู้เปิดร้านถ่ายรูปขึ้นเป็นแห่งแรก

          หนังสือว่านายจิตรเดิมเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่เวรชิตภูบาลปี บิดานายจิตรชื่อ ตึง ทหารแม่นปืนฝ่ายพระราชวังบวร(วังหน้า)     ไม่ระบุชื่อมารดา ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๕ ตำลึง ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้า) สวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๐๙ แล้วนายจิตรก็ลงมาสมทบรับราชการในพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) หรือรับราชการกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ ช่างถ่ายรูปขึ้นกับกรมแสง (ว่าด้วยอาวุธ ไม่ใช่ลำแสง) ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละชั่ง ห้าตำลึง จากนั้นได้เลื่อนเป็นหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป ซึ่งหมายถึงดูแลโรงแก๊ส พระราชทานเบี้ยหวัดปีละชั่งกับสิบตำลึง

           จากหลักฐานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าผู้ที่เรียนวิชาความรู้จากต่างชาติ แล้วมารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นมีนายจิตร อยู่คือ  "มีนายจิตร อยู่กฎีจีนคน ๑ ได้หัดชักรูปกับบาทหลวงลานอดี ฝรั่งเศส แลได้ฝึกหัดต่อมากับทอมสัน อังกฤษที่เข้ามาชักรูปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จนตั้งห้างชักรูปได้เปนทีแรก แลได้เปนขุนฉายาทิศลักษณเมื่อในรัชกาลที่ ๕ แล้วเลื่อนเปนหลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมแก๊สหลวง"

           จากหนังสือ ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย โดยเอนก นาวิกมูลได้กล่าวถึงการตั้งสตูดิโอถ่ายภาพของ จิตรไว้ดั้งนี้ “สตูดิโอหรือร้านถ่ายรูปของนายจิตร ก็ตั้งบนเรือนแพหน้าวัดซางตาครู้สนี้แต่ก่อนจะพูดถึงเรือนแพประวัติศาสตร์หลังนั้น ที่ว่าหัดชักรูปกับบาทหลวงลานอดีฝรั่งเศสนั้นเป็นไปได้ เพราะเป็นชาวคริสต์และเป็นชาวคาทอลิกด้วยกัน ประวัติและผลงานของบาทหลวงลานอดี หรือ L'ABBE' LARNAUDIE ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ผู้เขียนได้พยายามหาทั้งประวัติ และรูปถ่ายบาทหลวงลานอดีหรือลาร์โนดีอยู่เป็นสิบปี เพิ่งจะได้รูปถ่ายชัด ๆ ของท่านก็เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ นี้เอง” และยังมีหลักฐานการตั้งร้านและโฆษณา “พบโฆษณาชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ The Bangkok Times ฉบับวันพุธที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๘๙ (พ.ศ. ๒๔๓๒) ลงโฆษณาของร้านฟรานซิศจิตรแอนด์ซัน โฆษณาอีกชิ้นหนึ่งพบในหนังสือพิมพ์ The Siam Mercantile Gazette ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ (พ.ศ. ๒๔๓๒) บอกปีตั้งร้านเอาไว้เหมือนกันว่า "นายจิตรผู้พ่อ ได้ก่อตั้งห้องภาพนี้ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๓"   จึงเป็นอันเชื่อได้แน่ว่าในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ นับแต่กลางสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น นายจิตรขณะอายุ ๓๓ ปีได้ตั้งร้านถ่ายรูปขึ้นแล้ว และอาจกล่าวได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งร้านรับจ้างถ่ายรูปเป็นอาชีพ เพราะยังไม่พบผู้ใดทำเช่นนี้มาก่อนเลย หลังจากตั้งร้านแล้ว นายจิตรได้ส่งโฆษณาไปลงตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เสมอ”    สิ่งพิมพ์ที่นายจิตรได้โฆษณาได้แก่ บางกอกรีคอร์เดอร์ จดหมายเหตุสยามไสมย บางกอกไตมส์ และเดอะสยามเมอร์แคนไตล์กาเซท์ และ แจ้งความชิ้นแรกสุดหรือเก่าสุดของนายจิตร เริ่มลงในหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์
           ภาพของนายจิตร เป็นภาพ คาบิเนทคาร์ด  (Cabinet card) โดยใช้ชื่อตัวเป็นเครื่องกำกับงาน นายจิตร ยังได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตร สุริยุปราคาที่หว้าก้อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑  และได้บันทึกภาพไว้ด้วย นายจิตร จิตราคณี ถือว่าเป็นช่างภาพชาวไทยที่สำคัญยิ่งภาพถ่ายที่เป็นของบุคคลชั้นสูง สามัญชนและสถานที่ต่างๆล้วนเป็นหลักฐานที่สำคัญของสังคมไทย  และ ณ เวลานั้นผลงานของนายจิตรไม่ได้เป็นรองช่างภาพชาวต่างชาติใดๆเลย เป็นภาพที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านคุณภาพและเนื้อหา ส่วนช่างภาพหญิงคนแรกของไทยก็คือแม่สร้อย ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆของนายจิต นั่นเอง

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงสืบทอดการสนับสนุนการถ่ายรูปต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงใช้การถ่ายภาพบันทึกชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่พระองค์เสด็จประพาสตามหัวเมืองต่างๆ จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการถ่ายรูป ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการถ่ายรูปจากเมื่อก่อน ใช้ฉากหลังเรียบๆเปลี่ยนมาเป็นฉากรูปวิว ท้องพระโรง ห้องรับแขกที่จัดไว้อย่างสวยงาม ฉากตึกราม วัดวาอารามบ้าง เพราะว่าในยุคนี้คนไทยไปเมืองนอกกันมาก การแต่งตัวของผู้หญิงก็เริ่มเอาแบบอย่างการแต่งตัวของชาวตะวันตก สาวๆไทยเริ่มเปลี่ยนทรงผมจากทรงดอกกระทุ่ม มาเป็นผมโป่ง หรือแสกกลาง มีริบบิ้นคาดหน้าผาก หรือเครื่องประดับใส่ นอกจากนี้พระองค์ทรงสนับสนุนกิจการถ่ายภาพโดยโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง ร้านถ่ายรูปนรสิงห์ ซึ่งเป็นร้านเดิมของโรเบิร์ต เลนซ์ ได้ค้นพบภาพถ่ายสำคัญ คือ “ภาพพาโนรามา” ชั้นล่างของห้องฉายานรสิงห์ พระองค์ทรงจัดตั้งสตูดิโอถ่ายรูปขึ้นในงานฤดูหนาวที่วังสราญรมย์ชื่อ ราชสาทิศย์สถาน และในสมัยนั้นยังมีการนำเอาไฟมาใช้ในการถ่ายภาพโดยเริ่มที่โรงเรียนเพาะช่างและได้แพร่หลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เพราะ สามารถถ่ายภาพได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

          สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการถ่ายรูปมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เคยได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในการประชันรูปวัดเบญจมบพิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ และยังสนพระราชหฤทัยเรื่องการถ่ายภาพยนตร์อีกด้วย ขณะที่พระองค์ทรงประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระองค์ทรงสร้างห้องมืดและทรงล้าง อัด และขยายรูปเอง เรื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จไปศึกษา และไปเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน จึงได้ทรงซื้อกล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องถ่ายสามมิติ และถ้ำมอง และอุปกรณ์อื่นๆ พระองค์ทรงเป็นนักอนุรักษ์กล้องอย่างดียิ่ง

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไม่มีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเรื่องวัฒนธรรมการถ่ายรูปที่ชัดนัก อาจเป็นเพราะว่า พระองค์ทรงครองราชย์เพียง ๑๒ ปี ๙๙ วัน เลยทำให้เรื่องราวในสมัยนั้นคาบเกี่ยวกับในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เลยทำให้ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการถ่ายรูปมากนักในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

          จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ถือว่าเป็นยุคการถถ่ายภาพที่เจริญรุ่งเรือง พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องกล้องและการถ่ายภาพ พระองค์ทรงมีเทคนิคหลายอย่างในการถ่ายภาพ เมื่อพระองค์ทรงมีเวลาว่างจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พระองค์จะทรงถ่ายภาพ ภาพต่างๆที่ทรงบันทึกก็จะมี ภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพทิวทัศน์หรือสิ่งที่พบเห็นในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ มีทั้งภาพสถานที่ ราษฎรที่มาเฝ้า ภาพธรรมชาติ ภาพในเชิงศิลปะ และทรงบันทึกภาพสำหรับใช้ประกอบพระราชดำริในการพัฒนา บันทึกความก้าวหน้า โครงการพระราชดำริเพื่อการพัฒนาชนบทของพระองค์

bottom of page